หนองในเทียม โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่พบมากในกลุ่มวัยรุ่น สามารถเกิดขึ้นได้กับทั้งเพศชายและเพศหญิง เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย คลามัยเดียทราโคมาติส (Chlamydia Trachomatis) ส่วนมากติดต่อกันจากการมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ป้องกันกับผู้ที่ติดเชื้อ เชื้อสามารถแพร่ติดต่อได้หลายทาง เช่น ทางอวัยวะเพศ ทางทวารหนัก ทางปาก รวมไปถึงการแพร่เชื้อจากแม่สู่ลูกในขณะตั้งครรภ์ได้อีกด้วย อย่างไรก็ตามหนองในเทียมไม่สามารถติดต่อผ่านการจูบ การกอด การใช้ช้อนส้อม การใช้สระว่ายน้ำ การใช้ห้องน้ำร่วมกับผู้ป่วย
หนองในเทียมมีอาการอย่างไร ?
หนองในเทียมอาการในช่วงแรกอาจจะยังไม่แสดงอาการให้พบเห็นได้ชัดเจน แต่หลังได้รับเชื้อแล้วในระยะเวลา 1-3 สัปดาห์ จะแสดงอาการแตกต่างกันออกไป ดังนี้
ในเพศชาย
- ปวดหรือบวม ที่ลูกอัณฑะ
- เจ็บหรือแสบที่อวัยวะเพศขณะปัสสาวะ
- มีมูกใสหรือขุ่น ไหลออกจากปลายอวัยวะเพศ
- มีอาการอักเสบที่บริเวณหนังหุ้มปลายอวัยวะเพศ
ในเพศหญิง
- มีตกขาวมากกว่าปกติ และมีกลิ่นเหม็น
- เจ็บหรือแสบที่อวัยวะเพศ ขณะปัสสาวะ
- คันหรือแสบร้อน บริเวณรอบอวัยวะเพศ
- รู้สึกเจ็บท้องน้อยเวลามีประจำเดือนหรือขณะมีเพศสัมพันธ์
การวินิจฉัยหนองในเทียม

หนองในเทียมวินิจฉัยได้ โดยการเก็บสารคัดหลั่งจากตำแหน่งที่ต้องการตรวจเพื่อส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการหาเชื้อแบคทีเรียที่มีชื่อว่า คลามัยเดียทราโคมาติส (Chlamydia Trachomatis) ตัวอย่างสารคัดหลั่งที่เก็บ เช่น ปัสสาวะ สารคัดหลั่งจากท่อปัสสาวะเพศชาย หรือสารคัดหลั่งจากปากมดลูก นำมาย้อมสไลด์ดูด้วยกล้องจุลทรรศน์ แต่ในเพศหญิงนั้นมักจะตรวจพบได้ยาก เพราะมักไม่แสดงอาการ ไม่มีหนองออกมา ก็สามารถตรวจด้วยเทคนิค PCR ซึ่งตรวจได้ทั้งจากหนองและปัสสาวะ
หนองในเทียม หนองในแท้ แตกต่างกันอย่างไร ?
- หนองในเทียม
- เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย Chlamydia trachomatis
- มีระยะการฟักตัวของโรค มากกว่า 10 วันขึ้นไป นานกว่าโรคหนองในแท้
- หนองในแท้
- เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย Neisseria gonorrhea
- มีระยะการฟักตัวประมาณ 1 – 10 วัน แต่โดยส่วนใหญ่แล้วจะมีการฟักตัวภายใน 5 วัน
หนองในเทียมป้องกันได้อย่างไร
การป้องกันหนองในเทียม คือการลดความเสี่ยงในการรับเชื้อ โดยเฉพาะจากการมีเพศสัมพันธ์ ตามวิธีดังต่อไปนี้
- ไม่เปลี่ยนคู่นอนบ่อย
- สวมถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์
- หลีกเลี่ยการใช้เซ็กซ์ทอย (sex toy) ร่วมกัน
- หลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์กับผู้ที่มี มูกหรือหนอง ไหลออกจากอวัยวะเพศ
- ตรวจคัดกรองหาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์เป็นประจำ อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง
การรักษาหนองในเทียม

หนองในเทียมสามารถรักษาได้ โดยการรับประทานยาปฏิชีวนะเพื่อช่วยรักษาหรือป้องกันการติดเชื้อและแพร่กระจายของแบคทีเรีย คลามัยเดียทราโคมาติส (Chlamydia Trachomatis) กลุ่มยาปฏิชีวนะที่ใช้ในการรักษาหนองในเทียม ได้แก่
- กลุ่มยาเพนิซิลลิน (Penicillins)
- กลุ่มยาแมคโครไลด์ (Macrolides)
- กลุ่มยาเตตราไซคลิน (Tetracyclines)
ขอบคุณข้อมูล : Pobpad
อ่านบทความอื่นๆเพิ่มเติม
หากคุณมีอาการที่สงสัยว่าจะเป็น “หนองในเทียม” ควรรีบพบแพทย์เพื่อเข้ารับการตรวจวินิจฉัยโดยเร็ว หากพบว่าเป็นหนองในเทียมจริง ก็จะได้รับการรักษาที่เหมาะสม ช่วยลดภาวะแทรกซ้อนโรค นอกจากนี้ควรแนะนำให้คู่นอนเข้ารับการตรวจและรักษาที่เหมาะสมด้วยเช่นกัน