อยากตรวจเอชไอวี ไปที่ไหนได้บ้าง

อยากตรวจเอชไอวี ไปที่ไหนได้บ้าง

ความจริงแล้วถ้าคุณ อยากตรวจเอชไอวี ไม่ใช่เรื่องยุ่งยากเลยในปัจจุบัน เพราะสถานพยาบาลเกือบทุกที่ก็สามารถเจาะเลือดตรวจหาเชื้อได้เหมือนกันทั้งนั้น แต่การเลือกสถานพยาบาลที่มีความเชี่ยวชาญในด้านนี้โดยเฉพาะ ก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่คุณจะได้รับการบริการที่ครบถ้วนมากกว่าสถานพยาบาลอื่นทั่วไป เพราะในขั้นตอนการตรวจเอชไอวี จำเป็นต้องมีการพูดคุยกับแพทย์หรือเจ้าหน้าที่ทุกครั้ง วันนี้ เรามีข้อแนะนำดีๆ สำหรับผู้ที่ อยากตรวจเอชไอวี มาฝากกันครับ

อยากตรวจเอชไอวี ต้องรู้อะไรบ้าง

รู้จักโรคเอดส์และไวรัสเอชไอวี

เชื้อไวรัสเอชไอวี หรือภาษาอังกฤษเรียกว่า Human Immunodeficiency Virus (HIV) เป็นไวรัสชนิดที่สามารถส่งต่อเชื้อจากคนหนึ่งไปยังอีกคนหนึ่ง ผ่านทางเลือด ทางเพศสัมพันธ์ และจากมารดาที่มีเชื้ออยู่แล้วสู่ลูกน้อยในครรภ์ เมื่อไวรัสเอชไอวีเข้ามาในร่างกายแล้ว จะเกิดการแพร่กระจายผ่านเม็ดเลือดขาวไปตามอวัยวะต่างๆ มุ่งเข้าทำลายเซลล์เม็ดเลือดขาว (CD4) ที่ทำหน้าที่เป็นเกราะป้องกันร่างกายจากเชื้อโรคต่างๆ เมื่อเซลล์เม็ดเลือดขาว และระบบภูมิคุ้มกันถูกเชื้อบ่อนทำลาย ก็จะทำให้ร่างกายผู้ติดเชื้ออ่อนแอ จนเกิดอาการเจ็บป่วยได้ง่าย หรือที่เรียกกันว่า “โรคฉวยโอกาส”

รู้จักว่าเอดส์และไวรัสเอชไอวีแตกต่างกัน

ความแตกต่างระหว่าง ไวรัสเอชไอวีและเอดส์นั้น อธิบายได้ง่ายๆ ว่า เอชไอวี เป็นเชื้อไวรัส ส่วนเอดส์หรือภาษาอังกฤษเรียกว่า Acquired Immune Deficiency Syndrome (AIDS) เป็นกลุ่มอาการของโรคที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสเอชไอวี ซึ่งผู้ที่ติดเชื้อนี้ไม่จำเป็นต้องเป็นโรคเอดส์เสมอไป หากได้รับการรักษาด้วยการทานยาต้านไวรัสอย่างต่อเนื่อง พวกเขาจะมีสุขภาพที่แข็งแรงดี แต่หากติดเชื้อเอชไอวี และไม่ได้เข้าสู่กระบวนการดูแลรักษา หรือไม่เคยรู้เลยว่าตัวเองติดเชื้อ ระยะดำเนินของโรคจะใช้เวลายาวนานกว่า 10 ปีเลยทีเดียวก่อนที่จะพัฒนาไปเป็นโรคเอดส์ แต่ผู้ที่ตรวจพบเชื้อในเลือดแล้ว ก็จะสามารถแพร่เชื้อไปสู่คนอื่นได้ แม้จะยังไม่มีอาการใดๆ ก็ตาม

ช่องทางการติดต่อของเอชไอวี

รู้จักช่องทางการติดต่อของเอชไอวี

  • ใช้เข็มฉีดยาร่วมกันกับผู้อื่น
  • ไม่สวมถุงยางอนามัย เวลาที่มีเพศสัมพันธ์
  • รับเลือดมาจากการผ่าตัด หรือเพื่อรักษาโรคเลือดบางชนิด
  • การติดต่อผ่านแม่สู่ลูก (พบได้น้อยในปัจจุบัน)

อยากตรวจเอชไอวี ต้องรู้จักระยะฟักตัว (Window Period)

กล่าวคือ ถ้าคุณเสี่ยงรับเชื้อเอชไอวีมาวันนี้ ยังไม่สามารถตรวจเจอเชื้อได้อย่างแน่นอน เพราะไวรัสเอชไอวีจะไม่ได้แสดงตัวในทันทีที่ร่างกายรับเชื้อเข้าไป ดังนั้น การตรวจเลือดจะต้องรอไปสักระยะ หรือให้พ้นระยะฟักตัวไปก่อน ซึ่งในปัจจุบันจะยึดตามรูปแบบของวิธีการตรวจที่มีตั้งแต่หลังเสี่ยง 5-7 วัน ด้วยการตรวจแบบแนท (NAT) 14 วันขึ้นไปด้วยการตรวจน้ำยา 4th Generation หรือเสี่ยงมามากกว่า 30 วันขึ้นไปจะใช้วิธีการตรวจแบบ ANTI-HIV ซึ่งระยะที่ 1 เดือนจะให้ผลค่อนข้างแม่นยำที่สุดในการตรวจหาเชื้อเอชไอวี

อยากตรวจเอชไอวี ต้องรู้จักระยะของการติดเชื้อ

ระยะแรกเริ่ม

การติดเชื้อไวรัสเอชไอวี ในช่วงแรกปริมาณเชื้อจะยังไม่มาก และร่างกายก็ยังไม่ได้สร้างภูมิต้านทานขึ้นมาเพื่อต่อสู้กับเชื้อทันที การตรวจหาเชื้อในระยะนี้อาจจะยังไม่พบ ซึ่งอาการที่อาจพบได้ว่าคุณติดเอชไอวีแล้วจะค่อนข้างคล้ายกับโรคอื่นๆ ทั่วไป หากไม่ได้สังเกตก็ไม่สามารถรู้ได้เลยว่าเป็นเพราะไวรัสเอชไอวี โดยจะเป็นตั้งแต่หลังติดเชื้อประมาณ 2-12 สัปดาห์ ได้แก่

  • มีอาการไข้ หนาวสั่น เจ็บคอ ปวดเมื่อยตามตัว
  • มีผื่นขึ้น ต่อมน้ำเหลืองที่คอโต
  • มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ถ่ายเหลว น้ำหนักลด
  • มีอาการคล้ายคนเป็นไข้หวัดทั่วไปหรือไข้หวัดใหญ่
  • อาการเหล่านี้ มักจะหายไปได้เองประมาณ 1-2 สัปดาห์

ระยะติดเชื้อเอชไอวี แบบไม่มีอาการ

ผู้ติดเชื้อเอชไอวี จะมีสุขภาพที่ดีเหมือนกับคนทั่วไป แต่เมื่อใดที่ได้เจาะเลือดตรวจก็จะพบเชื้อเอชไอวีอย่างแน่นอน จึงสามารถแพร่เชื้อให้คนอื่นได้ เรียกว่าเป็น “ระยะพาหะ” ที่แม้ว่าจะไม่มีอาการแต่ไวรัสเอชไอวีจะค่อยๆ แบ่งตัวเจริญเติบโตขึ้นไปเรื่อยๆ และทำลายระบบภูมิคุ้มกันโรค จนมีจำนวนลดลง เมื่อลดต่ำลงมากๆ จึงจะเริ่มมีอาการเจ็บป่วย ทั้งนี้ อัตราการลดลงของระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายจะเร็วหรือช้า ขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ความรุนแรงของเชื้อและสุขภาพพื้นฐานของผู้ติดเชื้อเอง ส่วนใหญ่ประมาณ 80% มักจะคงอยู่ในระยะพาหะนี้ประมาณ 5-10 ปี

ระยะติดเชื้อเอชไอวี แบบมีอาการ

  • เริ่มจากอาการเล็กน้อย อย่างต่อมน้ำเหลืองที่คอโต
  • ตรวจพบเชื้อราที่เล็บ เชื้อราในช่องปาก หรือช่องคลอด
  • มีแผลร้อนในในช่องปาก ฝ้าขาวข้างลิ้น
  • เป็นโรคสะเก็ดเงิน งูสวัด ผิวหนังอักเสบ
  • ท้องเสียบ่อยหรือเรื้อรังนานเกิน 1 เดือน น้ำหนักลด
  • เกิดเริมที่ริมฝีปาก หรืออวัยวะเพศ
  • มีไข้เป็นๆ หายๆ หรือติดต่อกันนานเกิน 1 เดือน
  • ปวดกล้ามเนื้อและข้อ ไซนัสอักเสบเรื้อรัง
  • ปอดอักเสบจากแบคทีเรีย

ระยะเอดส์

ระยะนี้ ระบบภูมิคุ้มกันโรคของร่างกายจะถูกทำลายไปจนเกือบหมดสิ้น ถ้าตรวจระดับ CD4 จะพบว่ามีจำนวนต่ำกว่า 200 เซลล์ต่อลูกบาศก์มิลลิเมตร ส่งผลให้เชื้อโรคต่างๆ เข้ามาแทรกซ้อนได้ง่าย เช่น

  • ไวรัส
  • แบคทีเรีย
  • เชื้อรา
  • โปรโตซัว
  • วัณโรค

เกิดเป็นโรคติดเชื้อฉวยโอกาส ซึ่งส่วนใหญ่จะมีกระบวนการ การรักษาค่อนข้างยากและมีอาการดังนี้

  • มีไข้เรื้อรังติดต่อกันหลายสัปดาห์หรือเป็นเดือน
  • ไอเรื้อรัง หรือหายใจหอบเหนื่อย จากวัณโรคปอด หรือปอดอักเสบ
  • ท้องเสียเรื้อรังจากเชื้อราหรือโปรโตซัว
  • น้ำหนักลด รูปร่างผอมแห้ง อ่อนเปลี้ยเพลียแรง
  • ปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน กลืนลำบาก
  • สายตาพร่ามัว มองไม่ชัด
  • มีตกขาวผิดปกติบ่อยในเพศหญิง
  • มีผื่นคันตามผิวหนัง ซีด มีจุดแดงจ้ำเขียวหรือเลือดออกจากภาวะเกล็ดเลือดต่ำ
  • สับสน ความจำเสื่อม หลงลืมง่าย ไม่มีสมาธิ พฤติกรรมผิดแปลกจากเดิม
  • ปวดศีรษะชนิดรุนแรง มีอาการชัก หรือหมดสติจากการติดเชื้อในสมอง
  • มีอาการของโรคมะเร็ง เช่น มะเร็งผนังหลอดเลือด มะเร็งต่อมน้ำเหลืองในสมอง มะเร็งปากมดลูก มะเร็งทวารหนัก เป็นต้น

ขั้นตอนในการตรวจเอชไอวีในปัจจุบัน

  • เลือกสถานพยาบาลที่ต้องการไปตรวจ และแจ้งความประสงค์ในการตรวจเอชไอวี
  • แสดงบัตรประจำตัวประชาชน เพื่อให้เจ้าหน้าที่ทำการลงทะเบียนและให้คิวตรวจ
  • ไม่จำเป็นต้องงดน้ำหรืออาหารก่อนการเจาะเลือดตรวจเอชไอวี
  • แพทย์จะทำการซักประวัติความเสี่ยงก่อนตรวจเลือด เพื่อพิจารณาว่าคุณควรตรวจเลือดด้วยวิธีไหน พร้อมทั้งให้คำแนะนำเกี่ยวกับเอชไอวี ผลตรวจ และหากติดเชื้อจะต้องทำอย่างไร
  • ใช้ระยะเวลาในการตรวจประมาณ 30-60 นาทีขึ้นอยู่กับแต่ละสถานพยาบาล
  • รอฟังผลเลือดที่ส่วนใหญ่แล้วจะรู้ผลได้ในวันเดียว จึงไม่จำเป็นต้องลางานหรือขาดเรียน
  • เด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี สามารถตรวจเอชไอวีได้ฟรี โดยไม่ต้องมีพ่อแม่มาเซ็นใบยินยอม

อยากตรวจเอชไอวี แบบฟรี ต้องไปที่ไหน?

ด้วยปัญหาโรคเอดส์ที่รัฐบาลไทยต้องการยุติลงให้ได้ในเร็ววัน จึงมีสวัสดิการให้สิทธิคนไทยทุกคนตรวจคัดกรองเพื่อหาเชื้อไวรัสเอชไอวีฟรี ปีละ 2 ครั้ง ที่โรงพยาบาลในระบบประกันสุขภาพ หรือโรงพยาบาลรัฐประจำจังหวัดทั่วประเทศ ทำให้คนที่ อยากตรวจเอชไอวี ตัดสินใจไปตรวจได้ง่ายขึ้นเพราะไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย เพียงแสดงบัตรประจำตัวประชาชนต่อเจ้าหน้าที่เท่านั้น โดยคุณสามารถโทรไปสอบถามเพิ่มเติมที่ สายด่วน สปสช. 1330 นอกจากนี้ ยังมีองค์กรที่เกี่ยวกับเอชไอวี และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่เปิดให้บริการตรวจเลือดฟรี กับประชาชนทั่วไปที่มีความเสี่ยงด้วย สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่

ข้อดีของการตรวจเอชไอวี

ข้อดีของการตรวจเอชไอวี

  • คลายความกังวลใจว่าจะติดหรือไม่ติดเชื้อ เพราะคุณกล้าออกมาตรวจ ออกมาเผชิญความจริง
  • หากตรวจแล้ว พบว่าติดเชื้อเอชไอวีขึ้นมาจริงๆ ก็ไม่ต้องกังวล คุณสามารถเข้ารับการรักษาได้ทันที โดยไม่จำเป็นต้องรอให้แสดงอาการ หรือเกิดโรคแทรกซ้อน
  • ทำให้สุขภาพทางเพศของคุณได้รับการดูแลจากแพทย์ และมีสุขภาพที่ดี
  • ได้รับความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับไวรัสเอชไอวี โรคเอดส์ และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
  • ทำให้สามารถวางแผนการดำเนินชีวิตต่อไปได้ หากติดเชื้อก็จะได้รักษา หากไม่ติดเชื้อก็จะได้ป้องกันตัวเองให้ปลอดภัยได้ตลอดไป

สรุปได้ว่า ผู้ที่ต้องการตรวจหาเชื้อไวรัสเอชไอวี ย่อมทำได้ทุกเมื่อหลังพ้นระยะฟักตัวจากความเสี่ยงที่ได้ผ่านมาแล้ว และสถานพยาบาลทุกที่สามารถเชื่อถือในผลตรวจได้อย่างเป็นมาตรฐานเดียวกัน ขอให้คุณเลือกที่ที่เดินทางสะดวก หรือเลือกบริการของสถานพยาบาลที่คุณพึงพอใจได้เลย เพราะข้อมูลการตรวจเลือดไม่ว่าจะเป็นเอชไอวีหรือโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่นๆ จะถูกเก็บไว้เป็นความลับ ตามกฎและจรรยาบรรณของแพทย์พยาบาล และไม่ต้องกังวลว่าใครจะล่วงรู้ได้ เพราะฉะนั้นสบายใจได้ อย่ามัวแต่เขินอาย และรีบไปตรวจเอชไอวีกันดีกว่านะครับ

อ่านบทความอื่นๆ ที่น่าสนใจที่นี่

Similar Posts