โรคเอดส์คืออะไร?
โรคเอดส์ (AIDS หรือ Acquired Immune Deficiency Syndromes)
A = Acquired หมายถึง สภาวะที่เกิดขึ้นมาภายหลัง ไม่ได้มีมาแต่กำเนิด
I = Immune หมายถึง ส่วนที่เกี่ยวข้องกับระบบภูมิคุ้มกัน หรือภูมิต้านทานของร่างกาย
D = Deficiency หมายถึง ความเสื่อมลง
S = Syndrome หมายถึง กลุ่มอาการ หรืออาการหลาย ๆ อย่างไม่เฉพาะระบบใดระบบหนึ่ง

โรคเอดส์ คือ กลุ่มอาการของโรคฉวยโอกาส เกิดจากการที่ร่างกายติดเชื้อไวรัสเอชไอวี เมื่อผู้ป่วยได้รับเชื้อเข้าไปจนถึงระยะสุดท้ายของการติดเชื้อ เชื้อไวรัสจะเข้าไปทำลายระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายจนทำให้ผู้ป่วยมีจำนวนเม็ดเลือดขาวชนิด CD4 ลดลง จนไม่สามารถต่อสู้เชื้อโรค หรือสิ่งแปลกปลอมต่าง ๆ ที่เข้าสู่ร่างกาย ทำให้เสี่ยงต่อการเป็นโรคแทรกซ้อนที่เรียกว่า โรคติดเชื้อฉวยโอกาส ซึ่งทำให้ติดเชื้อได้ง่ายกว่าคนปกติ และอาการอาจจะรุนแรงจนเสียชีวิตในที่สุด
โรคเอดส์ต่างจากการติดเชื้อ HIV อย่างไร?
การติดเชื้อ HIV กับโรคเอดส์ มีความแตกต่างกัน เพราะการติดเชื้อเอชไอวี ไม่ใช่โรคแต่เป็นการที่ร่างกายได้รับไวรัสเอชไอวีเข้าไปนั้นจะยังไม่แสดงอาการรุนแรงในระยะแรก ทำให้ผู้ที่ได้รับเชื้อไวรัสเอชไอวีแล้วบางคนอาจจะยังไม่รู้ตัวว่าตัวเองติดเชื้อเอชไอวี ก็ทำให้ไม่ได้รับการรักษา เป็นผลทำให้การติดเชื้อเอชไอวีจากแรกเข้าสู่ระยะที่สองคือระยะเเพร่เชื้อ และเข้าสู่ระยะที่เริ่มแสดงอาการ เช่น เป็นไข้ ท้องร่วง เป็นงูสวัด ถ้าหากยังไม่ได้รับยาต้านไวรัส ปริมาณเชื้อไวรัสในร่างกายก็จะสูงขึ้นจนไปทำลายระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายเรียกว่า ระยะเอดส์ หรือ เป็นผู้ป่วยโรคเอดส์ ซึ่งเป็นระยะสุดท้ายของการติดเชื้อเอชไอวีนั่นเอง
สาเหตุของโรคเอดส์
มาจากการได้รับเชื้อไวรัสเอชไอวี ผ่านทางการรับของเหลว เช่น เลือด น้ำนมแม่ น้ำอสุจิ ของเหลวในช่องคลอด โดยผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่จะได้รับผ่านจากการมีเพศสัมพันธ์ และการใช้เข็มฉีดยาร่วมกับบุคคลอื่น ทั้งนี้การที่ไวรัสส่งผ่านทางของเหลวทำให้ผู้ติดเชื้อไวรัสเอชไอวี สามารถส่งผ่านเชื้อไวรัสจากแม่ไปยังลูกในครรภ์ หรือผ่านทางน้ำนม ได้เช่นกัน

อาการของโรคเอดส์
อาการโรคเอดส์ระยะเริ่มแรก หรือเรียกระยะเฉียบพลัน
ในระยะแรกนี้ผู้ป่วยที่ได้รับเชื้อไวรัสเอชไอวี จะมีอาการไข้ เจ็บคอ ผื่นขึ้น ต่อมน้ำเหลืองโต ซึ่งเป็นอาการตอบสนองของร่างกายจากการได้รับเชื้อ
อาการโรคเอดส์ระยะสงบ
ระยะนี้ของโรคเอดส์สามารถกินเวลาเป็น 10 ปี และมีเชื้อเพิ่มขึ้นในปริมาณต่ำ ทำให้ผู้ป่วยไม่แสดงอาการออกมา แต่สามารถแพร่กระจายไปสู่ผู้อื่นได้ ทำให้ยังคงต้องทานยาต้านเชื้อเพื่อไม่ให้เข้าสู่ระยะที่ 3 ของโรคเอดส์เร็วเกินไป
อาการระยะสุดท้ายหรือระยะเอดส์
เป็นระยะที่เข้าสู่การเป็นโรคเอดส์ ซึ่งภูมิคุ้มกันร่างกายของผู้ป่วยถูกทำลายไปจนต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน คือ มีเซลล์เม็ดเลือดขาว CD4 น้อยกว่า 200 cumm. และมีความเสี่ยงสูงที่จะติดโรคฉวยโอกาสซึ่งมีความแตกต่างกันไปในแต่ละคน เช่น โรคปอดอักเสบ ก่อเป็นวัณโรค การติดเชื้อราที่ทำให้เนื้อเยื่ออักเสบในปาก ช่องคลอด ปอด หรือการติดเชื้อไวรัสที่เป็นอันตรายกับตา จนอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้เสียชีวิตได้
อาการท้องเสียของคนเป็นเอดส์
จะมีอาการถ่ายเหลว มีน้ำเยอะมากกว่า 3 ครั้งต่อวัน หรืออาจมีมูกเลือดปนออกมาด้วยในบางครั้ง อาการท้องเสียมักจะเกิดร่วมกันกับอาการไข้และน้ำหนักลดลงอย่างรวดเร็ว
โรคเอดส์ และการติดเชื้อในกระแสเลือด
เกิดการอักเสบ และติดเชื้อในร่างกายและกระจายสู่กระแสเลือด อาจทำให้เกิดภาวะช็อกและอวัยวะภายในล้มเหลวได้
การรักษาโรคเอดส์
ปัจจุบันการรักษาโรคเอดส์ทำได้โดยการให้ยาต้านไวรัสเอชไอวี โดยใช้สูตรยาต้านไวรัสเอชไอวีรวมกันตั้งแต่ 3 ชนิดขึ้นไป ตัวยาจะทำหน้าที่ในการหยุดการแบ่งตัวเพื่อไม่ให้ไวรัสเอชไอวีเพิ่มจำนวน สามารถแบ่งได้ 3 กลุ่มดังนี้
- Nucleoside reverse transcriptase inhibitors (NRTIs) มีกลไกลการยับยั้งการทำงานของเอนไซม์รีเวิร์สทรานสคริปเตส (Reverse Transcriptase enzyme) ซึ่งเป็นเอนไซม์ที่ช่วยสร้างสารพันธุกรรม (ดีเอ็นเอ) ให้แก่ไวรัสเอชไอวีเพื่อให้สามารถเพิ่มจำนวนและอาศัยในดีเอ็นเอของมนุษย์ได้ จึงส่งผลทำให้การเชื่อมต่อดีเอ็นเอของไวรัสหยุดชะงัก เชื้อไวรัสจึงไม่สามารถเพิ่มจำนวนได้ในร่างกายมนุษย์ ยาในกลุ่มนี้ เช่น ทีโนโฟเวียร์ (Tenofovir หรือ TDF) ซิโดวูดีน หรือเอแซดที (Zidovudine:AZT) และเอ็มไตรซิทาปีน(Emtricitabine: 3TC) เป็นต้น
- Non nucleoside reverse transcriptase inhibitors (NNRTIs) มีกลไกของยากลุ่มนี้จะยับยั้งการทำงานของเอนไซม์รีเวิร์สทรานสคริปเตส เช่นเดียวกับยากลุ่ม NRTIs เช่น เนวิราปีน(Nevirapine: NVP), เอฟฟาไวเรนซ์ (Efavirenz: EFV), ริวพิไวรีน (Rilpivirine: RVP)
- Protease inhibitors (PIs) ยับยั้งเอนไซม์โปรติเอส หรือกระบวนการสร้างส่วนประกอบโปรตีนของไวรัสเอชไอวีไม่สมบูรณ์ จึงทำให้ไม่สามารถก่อให้เกิดการติดเชื้อเอชไอวีรอบใหม่ได้ ยาในกลุ่มนี้ เช่น รีโทรนาเวียร์ (Ritonavir) และ โลพินาเวียร์ (Lopinavir) เป็นต้น

ดูแลตัวเองอย่างไรเมื่อเป็นโรคเอดส์
ยาเหล่านี้เป็นเพียงยาที่ใช้ยับยั้งการเพิ่มจำนวนของไวรัสเท่านั้น แต่ไม่สามารถกำจัดเชื้อไวรัสให้หมดไปจากร่างกายได้ และมีผลข้างเคียงได้แก่ โลหิตจาง คลื่นไส้ อาเจียน ผื่นตามผิวหนัง ฯลฯ ดังนั้นการใช้ยาดังกล่าวต้องอยู่ในการดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด
สิ่งที่ควรปฏิบัติ
- ผู้ป่วยโรคเอดส์ควพักผ่อนให้เพียงพอ อย่างน้อยวันละ 8 ชั่วโมง และพักผ่อนเมื่อรู้สึกอ่อนเพลีย
- พยายามลดความเครียดโดยการหากิจกรรมที่ชอบทำ หรือกิจกรรมที่ผ่อนคลาย
- ผู้ป่วยโรคเอดส์ควรรับประทานยาต้านไวรัสให้ตรงเวลาเป็นประจำ และต่อเนื่องทุกวันตลอดชีวิต เพื่อยับยั้งการเพิ่มจำนวนของไวรัสในร่างกาย
- ดูแลตัวเองในด้านสุขอนามัยเพื่อไม่ให้เกิดโรคฉวยโอกาส และเพื่อลดโอกาสในการแพร่เชื้อสู่ผู้อื่น โดยเฉพาะการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น การรับประทานอาหาร การอาบน้ำ ความสะอาดของร่างกาย
- ระมัดระวังโอกาสที่จะได้รับเชื้อโรคจากแหล่งต่างๆ เข้าสู่ร่างกาย หลีกเลี่ยงการเข้าใกล้คนที่ไม่สบายหรือติดเชื้ออื่นๆ
- ไม่ควรทานอาหารดิบ ต้องปรุงสุกก่อนทุกครั้ง เพื่อป้องกันเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกาย
- ระมัดระวังสัตว์เลี้ยงและการทำสวนเพราะอาจทำให้สัมผัสกับเชื้อโรคได้
- ควรทำความสะอาดข้าวของเครื่องใช้อย่างสม่ำเสมอ
- ที่สำคัญคือ ไม่ควรให้เลือด น้ำปัสสาวะ น้ำอสุจิ หรือของเหลวจากร่างกายไปสัมผัสกับบุคคลอื่น เช่น ในกรณีที่มีแผล ก็ควรทำความสะอาดและปิดแผลเพื่อลดการติดเชื้อและแพร่เชื้อ
- รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ และมีสารอาหารครบถ้วน
- หากมีเพศสัมพันธ์ต้องใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้ง เพื่อป้องกันการรับหรือแพร่เชื้อเอดส์
- งดสิ่งเสพติดทุกชนิด
- งดบริจาคเลือดหรืออวัยวะ
- ไม่ใช้ของมีคมร่วมกับผู้อื่น เช่น มีดโกน กรรไกรตัดเล็บ
- ไม่ควรตั้งครรภ์ เพราะอาจจะถ่ายทอดเชื้อให้ลูกได้ 30%
- ทำจิตใจให้สงบ เช่น การฝึกสมาธิ
- อยู่ในสถานที่ที่อากาศถ่ายเทได้สะดวก
- ใช้ห้องน้ำร่วมกับผุ้อื่นได้ตามปกติ แต่ควรระมัดระวังอย่าให้สิ่งขับถ่าย เช่น อุจจาระ ปัสสาวะ เสมหะ อาเจียน เปรอะเปื้อนพื้น โถส้วม อ่างล้างมือ ควรจะล้างด้วยผงซักฟอกหรือน้ำยาล้างห้องน้ำ (ที่มีส่วนผสมของคลอรีนอยู่ด้วย) เป็นประจำทุกวัน และล้างมือทุกครั้งหลังจากที่ใช้ห้องน้ำห้องส้วม
สิ่งที่ไม่ควรปฏิบัติ
- การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จะส่งกระทบต่อร่างกายโดยเฉพาะตับ ทำให้ร่างกายอ่อนแอลง
- ห้ามสูบบุหรี่ เพราะนอกจากจะทำลายปอดแล้วยังทำลายส่วนอื่นๆ ของร่างกายอีกด้วย
- ทานยาตัวอื่นๆ เองโดยไม่ปรึกษาแพทย์ผู้ดูแล เนื่องจากอาจเกิดผลข้างเคียงกับร่างกายและส่งผลให้ประสิทธิภาพของยารักษาโรคเอดส์ลดลง
อ่านบทความอื่นๆ เพิ่มเติม
อ้างอิงข้อมูลจากเว็บไซต์ :
- โรคเอดส์ (AIDS : Acquired Immune Deficiency Syndrome) https://www.doctorraksa.com/th-TH/blog/aids.html
- ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับโรคเอดส์ http://webdb.dmsc.moph.go.th/ifc_nih/a_nih_1_001c.asp?info_id=901
- เอดส์ ป้องกันได้ ไม่ยากอย่างที่คิด https://www.pobpad.com/เอดส์-ป้องกันได้-ไม่ยากอ