เป็น “หนองใน” ดูแลตัวเองอย่างไร ?
“หนองใน” คือ โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ สามารถพบได้บ่อยมากเป็นอันดับต้นๆ ประมาณ 40 – 50% ของโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ สามารถเกิดขึ้นได้ทั้งในเพศชายและเพศหญิง การติดเชื้อหนองในส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นที่อวัยวะเพศ ทวารหนัก ลำคอ และมักติดต่อผ่านการมีเพศสัมพันธ์กับผู้ติดเชื้อหรือการสัมผัสของเหลวจากร่างกาย หนองใน แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ
- หนองในแท้
- หนองในเทียม
หนองในสาเหตุมาจากอะไร ?
หนองใน เกิดจากแบคทีเรียที่ชื่อว่า ไนซ์ซีเรีย โกโนร์เรีย (Neisseria Gonorrhoeae) ซึ่งเป็นแบคทีเรียที่สามารถเติบโตและเพิ่มจำนวนในเยื่อเมือกบุผิวของร่างกายได้อย่างง่ายดาย โดยสามารถเติบโตในพื้นที่ที่มีความอุ่นและชื้นอย่างระบบสืบพันธ์ุ ได้แก่ ปากมดลูก มดลูก ท่อนำไข่ และท่อปัสสาวะ รวมถึงบริเวณปาก ลำคอ และทวารหนัก ซึ่งเชื้อนี้จะแพร่จากคนไปสู่คนผ่านการมีเพศสัมพันธ์ทั้งทางด้านหน้าและทางทวารหนัก

หนองใน อาการเป็นอย่างไร
- ผู้ชาย: อาการของหนองในขึ้นอยู่กับบริเวณที่ติดเชื้อ ผู้ชายบางคนโดยเฉพาะคนที่เป็นโรคหนองที่ทวารหนัก และลำคอ จะไม่มีร่องรอยหรืออาการใดๆ เลย แต่ถ้ามีอาการเกิดขึ้นอาจรวมถึงมีของเหลวข้นสีเหลือง หรือขาวที่ไหลออกจากองคชาต เจ็บหรือลำบากในการถ่ายปัสสาวะ บริเวณรอบๆ รูองคชาตเป็นสีแดง มีของเหลวออกจากทวารหนัก
- ผู้หญิง: ส่วนใหญ่ไม่มีร่องรอยหรืออาการใดๆ แต่ถ้ามีอาการเกิดขึ้น อาจรวมถึงมีของเหลวออกจากช่องคลอดมากผิดปกติ ประจำเดือนมาไม่ปกติ ถ่ายปัสสาวะลำบาก เจ็บอุ้งเชิงกรานโดยเฉพาะขณะมีเพศสัมพันธ์ มีของเหลวออกจากทวารหนัก และรู้สึกไม่สบายเนื้อตัว หากทิ้งไว้ไม่รับการรักษา หนองในอาจแพร่สู่มดลูกและท่อทางเดินรังไข่ ทำให้เกิดโรคอุ้งเชิงกรานอักเสบ ซึ่งอาจนำไปสู่อาการแทรกซ้อนต่างๆ
ปัจจัยเสี่ยงต่อการติดเชื้อหนองใน
- เปลี่ยนคู่นอนบ่อย
- มีเพศสัมพันธ์ตั้งแต่อายุยังน้อย
- ไม่ใช้ถุงยางอนามัยขณะมีเพศสัมพันธ์
- ผู้ที่ใช้เข็มฉีดยาร่วมกับผู้อื่น

การรักษาหนองใน
หนองใน สามารถรักษาให้หายได้ โดยการให้ยาปฏิชีวนะในช่วงสั้น ๆ โดยฉีดยาปฏิชีวนะแล้วตามด้วยการให้ยาปฏิชีวนะแบบเม็ด หลังจากได้รับยา ผู้ป่วยจะค่อย ๆ มีอาการดีขึ้นภายใน 2-3 วัน
หลังจากการรักษา 1-2 สัปดาห์ ผู้ป่วยควรไปตามการนัดหมายของแพทย์ แม้ว่าอาการจะดีขึ้นแล้วก็ตาม ทั้งนี้ก็เพื่อที่แพทย์จะได้ตรวจดูอีกครั้งให้แน่ใจว่าเชื้อแบคทีเรียถูกกำจัดออกไปจนหมด และเป็นการป้องกันไม่ให้มีการติดเชื้อขึ้นอีกครั้งหรือเกิดการแพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่น
ดูแลตัวเองอย่างไรเมื่อเป็นหนองใน
- งดการมีเพศสัมพันธ์จนกว่าจะรักษาหายทั้งผู้ป่วยและคู่นอน
- รับประทานยา หรือรับการรักษาจนครบตามแผนการรักษาของแพทย์
- ดูแลความสะอาดร่างกาย และความสะอาดของเสื้อผ้าชุดชั้นใน ไม่ใส่ซ้ำ ไม่ใช้ร่วมกับผู้อื่น
- เข้ารับการตรวจรักษาตามแพทย์นัดอย่างสม่ำเสมอ
- ถ้ามีอาการผิดปกติ เช่น ตกขาวมีกลิ่นเหม็น หรือมีหนองไหลจากอวัยวะเพศ ควรไปพบแพทย์
- ไม่ควรซื้อยามารับประทานเอง
ขอบคุณข้อมูล : paolohospital,Pobpad