หนองใน(Gonorrhoea)

โรคหนองใน เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่มีชื่อเรียกภาษาอังกฤษว่า Gonorrhoea เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียไนซีเรีย โกโนเรีย (Neisseria Gonorrhoea) โดยแบคทีเรียชนิดนี้ ทำให้เกิดการติดเชื้อโดยเฉพาะในที่หลอดปัสสาวะ ช่องคลอด ปากมดลูก ทวารหนัก ลำคอ เยื่อบุมดลูก ท่อรังไข่ และตา อีกทั้งทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนตามมา เช่น เป็นหมัน ปวดท้องน้อยเรื้อรัง และตั้งครรภ์นอกมดลูก ซึ่งผู้ที่เป็นหนองในสามารถแพร่เชื้อได้ง่ายหากไม่ใช้ถุงยางอนามัยขณะมีเพศสัมพันธ์กับคู่นอน

หนองในมีกี่ประเภท

โรคหนองในสามารถแบ่งออกได้ 2 ประเภท คือ โรคหนองในแท้ และ โรคหนองในเทียม

  • หนองในแท้ (Gonorrhoea)  โรคหนองในที่สามารถพบได้ทั้งเพศชาย เพศหญิง และทารกแรกเกิด เกิดจากเชื้อแบคทีเรียที่ชื่อว่า Neisseria gonorrhoeae โดยเชื้อหนองในประเภทนี้จะมีระยะการฟักตัวของเชื้อแบคทีเรียประมาณ 1-10 วัน 
  • หนองในเทียม (Non Gonococcal Urethritis) โรคหนองในเทียมมีอาการคล้ายกับโรคหนองในแท้ แต่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียที่ชื่อว่า Chlamydia trachomatis โดยเชื้อหนองในประเภทนี้จะไม่ค่อยแสดงอาการที่ชัดเจน และมีระยะการฟักตัวของเชื้อแบคทีเรียนานกว่า 10 วันขึ้นไป

อาการของโรคหนองในเป็นอย่างไร?

อาการของโรคหนองในจะแสดงอาการแตกต่างกันไป ตามบริเวณที่ติดเชื้อและเพศของผู้ป่วย โดยสามารถตรวจพบได้ประมาณ 3 – 7 วันหลังจากที่ร่างกายได้รับเชื้อ

อาการโรคหนองในเพศชาย

อาการของโรคหนองในเพศชาย จะขึ้นอยู่กับบริเวณที่ติดเชื้อเป็นสำคัญ ซึ่งผู้ป่วยบางรายที่เป็นรอยโรคหนองในบริเวณทวารหนักและบริเวณลำคอ ส่วนใหญ่แล้วจะไม่แสดงอาการหรือรอยโรคที่ชัดเจน ส่วนน้อยที่แสดงอาการนั้นมักจะมีของเหลวสีเหลืองหรือสีขาวมีลักษณะข้น ไหลออกจากอวัยวะเพศ มีของเหลวไหลออกจากทวารหนัก ปัสสาวะแสบขัด ผิวหนังรอบปลายอวัยวะเพศเป็นสีแดง รวมถึงมีอาการเจ็บคอแห้ง ๆ ร่วมด้วย

อาการโรคหนองในเพศหญิง

อาการของโรคหนองในเพศหญิง ส่วนใหญ่แล้วจะไม่แสดงอาการหรือรอยโรคอย่างชัดเจน ส่วนน้อยที่แสดงอาการนั้นมักจะมีอาการผิดปกติของรอบประจำเดือน เจ็บอุ้งเชิงกราน มีของเหลวออกจากช่องคลอดมากกว่าปกติ ถ่ายปัสสาวะแสบขัด มีของเหลวไหลออกจากทวารหนัก รวมถึงมีอาการเจ็บคอแห้ง ๆ ร่วมด้วย กรณีที่ผู้ป่วยปล่อยไว้นานและไม่ได้รับการรักษาอย่างทันทวงที เชื้อโรคหนองในมีโอกาสแพร่สู่มดลูกและท่อทางเดินรังไข่ได้ จนทำให้เกิดอาการแทรกซ้อนต่าง ๆ ได้ง่าย โดยเฉพาะโรคอุ้งเชิงกรานอักเสบ (PID) ส่งผลให้เป็นหมันได้ในที่สุด

ดูแลตัวเองอย่างไรเมื่อเป็นโรคหนองใน

ผู้ป่วยโรคหนองในที่อยู่ระหว่างการรักษาเพื่อเป็นการลดเชื้อ และไม่ให้เกิดการแพร่เชื้อให้กับผู้อื่น แนะนำให้ทำตามข้อปฏิบัติดังต่อไปนี้  

  • งดมีเพศสัมพันธ์รวมถึงสำเร็จความใคร่จนกว่าจะรักษาหาย เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อโรคหนองใน 
  • ควรพาคู่นอนที่เคยมีเพศสัมพันธ์ไปตรวจหาเชื้อหนองในหรือตรวจเอชไอวีให้เร็วที่สุด
  • ทำความสะอาดบริเวณอวัยวะเพศ และทำให้แห้งอยู่เสมอ 
  • ห้ามใช้ของร่วมกับผู้อื่นเพื่อลดการแพร่เชื้อ 
  • ไม่ควรรีดหนองด้วยตนเองเพราะจะทำให้เกิดการอักเสบจนเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ 
  • เข้ารับการตรวจตามนัดทุกครั้งและทำตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัด 
  • รีบพบแพทย์หากมีอาการผิดปกติ ไม่ควรซื้อยามารับประทานเอง 
  • งดเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ทุกชนิด

วิธีการป้องกันหนองใน

การป้องกันโรคหนองในที่ดีที่สุดคือการ สวมถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ หลีกเลี่ยงการเปลี่ยนคู่นอนบ่อย และที่สำคัญควรตรวจโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์เป็นประจำอย่างน้อย 1 ครั้ง/ปี

การรักษาโรคหนองใน

การรักษา คือการใช้ยาปฏิชีวนะ ซึ่งใช้ได้ผลดี แต่ในหลายพื้นที่อาจมีเชื้อดื้อยาได้ ดังนั้น หลังการรักษา ถ้ายังคงมีอาการ จึงควรต้องกลับมาปรึกษาแพทย์อีกครั้ง นอกจากนั้น จำเป็นต้องตรวจหาการติดเชื้อที่เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่นๆที่อาจพบร่วมด้วย

Similar Posts