เริมรักษาได้..แต่ไม่หายขาด

เริม | รักษาได้..แต่ไม่หายขาด

เริม เกิดจากเชื้อไวรัส ที่มีชื่อว่า (Herpes Simplex Virus : HSV) โดยเชื้อ HSV นั้นทำให้เกิดเริมได้ที่บริเวณผิวหนัง ทำให้มีลักษณะพุขึ้นเป็นตุ่มใสเล็ก ๆ แล้วแตกเป็นแผล ตกสะเก็ด ซึ่งหายได้เอง(แต่ไม่หายขาด) แต่มักกำเริบซ้ำและเป็น ๆ หาย ๆ สามารถพบได้กับทุกเพศ ทุกวัย ซึ่งจะมีอยู่ 2 ชนิดด้วยกัน คือ

  • Herpes simplex virus 1 (HSV 1) มักเกิดอาการบริเวณปาก
  • Herpes simplex virus 2 (HSV 2) มักเกิดอาการบริเวณอวัยวะเพศ

เริมมีอาการอย่างไร

ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักจะมีอาการหลังจากได้รับเชื้อ โดยจะพบมีตุ่มน้ำบริเวณผิวหนังที่ริมฝีปาก บริเวณอวัยวะเพศ หรือผิวหนังบริเวณอื่นที่สัมผัสเชื้อ ในบางราย อาจจะมีอาการไข้ ปวดตามตัว ปวดศีรษะ หรือมีต่อมน้ำเหลืองโตร่วมร่วมด้วย ลักษณะตุ่มน้ำใสที่พบจะเรียงตัวเป็นกลุ่ม หลังจากนั้นจะแตกออกเป็นแผลตื้นๆ มีอาการเจ็บและ ปวดแสบปวดร้อนบริเวณแผล แผลจะค่อยๆ แห้ง ตกสะเก็ดและหายในระยะเวลาประมาณ 1-2 สัปดาห์

การ วินิจฉัย เริม

การวินิจฉัยเริม

แพทย์สามารถวินิจฉัยเริม ได้จากประวัติอาการ การตรวจร่างกาย และจากลักษณะตุ่มน้ำ แต่ในบางรายซึ่งมีอาการไม่ชัดเจน แพทย์อาจตรวจหาเชื้อด้วยวิธีต่าง ๆ เช่น การขูดแผลนำเนื้อเยื่อไปย้อมสี การตรวจหาสารก่อภูมิต้านทาน หรือ ดีเอ็นเอของเชื้อเริม จากแผลหรือสารคัดหลั่ง

ระยะฟักตัวของเริม

สำหรับการติดเชื้อครั้งแรก จะใช้เวลาประมาณ 2-20 วัน เมื่อเชื้อเข้าสู่ร่างกายและอยู่ในชั้นของผิวหนัง เชื้อเริมจะแบ่งตัวทำให้ผิวหนังเกิดอาการบวมเป็นตุ่มน้ำและเกิดการอักเสบ แต่หลังจากนั้นเมื่อหายจากโรคแล้ว เชื้อเริมจะเข้าไปหลบซ่อนที่ปมประสาทในบริเวณใต้ผิวหนังหรือเยื่อบุและแฝงตัวอยู่อย่างสงบ โดยไม่มีการแบ่งตัว (เชื้อจะอยู่ในตัวตลอดชีวิตในปมประสาท เพื่อรอให้มีปัจจัยต่าง ๆ มากระตุ้นแล้วจึงแสดงอาการ) แต่เมื่อมีปัจจัยมากระตุ้น เช่น เป็นไข้ ถูกแดดจัด ร่างกายอ่อนแอ เกิดความวิตกกังวล มีอารมณ์เครียด ภูมิคุ้มกันของร่างกายต่ำ เป็นต้น เชื้อเริมที่แฝงอยู่ตัวอยู่จะเกิดการติดเชื้อซ้ำ

ดูแลตัวเองอย่างไรเมื่อเป็นเริม

  • พักผ่อนให้เพียงพอ
  • ดื่มน้ำสะอาดมากๆ อย่างน้อย 6 – 8 แก้วต่อวัน
  • รักษาความสะอาดบริเวณตุ่มพอง
  • ไม่ใช้ของใช้ส่วนตัวร่วมกัน
  • ตัดเล็บให้สั้น ป้องกันการเกา และตุ่มน้ำติดเชื้อจากการเกา
  • ในรายที่เกิดโรคบริเวณอวัยวะเพศ ควรสวมใส่เสื้อผ้า กางเกงในที่หลวมสบาย และหลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์ช่วงนั้น
  • กินยาบรรเทาปวด พาราเซตามอล และยาบรรเทาอาการคัน โดยปรึกษาเภสัชกรก่อนซื้อยาเองเสมอ

เริมป้องกันได้อย่างไร

  • ใช้ถุงยางอนามัยทุกรั้งที่มีเพศสัมพันธ์
  • ไม่สัมผัสแผล หรือสารคัดหลั่งของผู้ติดเชื้อ
  • หลีกเลี่ยงการใช้สิ่งของร่วมกับผู้อื่น
  • พักผ่อนให้เพียงพอ
  • ออกกำลังกายสม่ำเสมอเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้แข็งแรง
  • งดการมีเพศสัมพันธ์จนกว่าแผลจะหายสนิท
  • สำหรับผู้ที่เคยเป็นเริมแล้ว ควรหลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้นต่างๆ ที่อาจทำให้เริมกลับมาเป็นซ้ำ
การ รักษา เริม

การรักษาเริม

ในปัจจุบันยังไม่ยาหรือวัคซีนในการรักษา เริม ให้หายขาดได้ เราทำได้เพียงบรรเทาและลดการแพร่เชื้อของแผลและอาการให้หายเร็วขึ้นเท่านั้น ซึ่งยาในการรักษาอาการนั้นต้องได้รับการสั่งยาจากแพทย์เท่านั้น เพราะยาบรรเทาปวดทั่วไปอาจไม่เหมาะสมกับเชื้อไวรัสและอาการที่เป็นอยู่

ยาที่ใช้รักษาเริม

  • หากเป็นครั้งแรกแนะนำให้รับประทานยา Acyclovir (400 mg.) 1 เม็ด 3 มื้อ 7 วัน
  • หากเป็นซ้ำ และต้องการให้หายเร็วให้รับประทานยา Acyclovir (400 mg.) 1 เม็ด 3 มื้อ 5 วัน
  • ส่วนยาทา Acyclovir cream อาจใช้ทาบริเวณที่เป็นร่วมด้วยก็ได้

ทั้งนี้การใช้ยาในการรักษาเริมควรเป็นไปตามที่แพทย์กำหนดอย่างเคร่งครัดและควรรับคำปรึกษากับแพทย์เท่านั้น

ขอบคุณข้อมูล : pornkasemclinic

อ่านบทความที่น่าสนใจ

เริม เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่สามารถป้องกันได้ รักษาได้ หากเราตรวจเจอและรักษาเร็ว แม้ว่าจะยังไม่มีวิธีรักษาเริมให้หายขาดได้ แต่ก็สามารถหลีกเลี่ยงการติดเชื้อซ้ำ หรือป้องกันไม่ให้เกิดเชื้อได้

Similar Posts