ขั้นตอนการตรวจเอชไอวี
การตรวจเอชไอวี แท้จริงแล้วสามารถทำได้หลายวิธี โดยขึ้นอยู่กับการพิจารณาของแพทย์ สถานพยาบาลที่รองรับวิธีการตรวจด้วยวิธีต่าง ๆ ไปจนถึงความสะดวกสบายที่ต้องการ เนื่องจากกระทรวงสาธารณสุขได้บรรจุสิทธิในการตรวจเอชไอวี ให้เป็นหนึ่งในหลักสุขภาพถ้วนหน้า ให้ประชาชนไทยได้ตรวจฟรี ปีละ 2 ครั้ง และเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี ยังมีสิทธิเข้ารับการตรวจเอชไอวี ได้โดยไม่ต้องมีผู้ปกครองอีกด้วย จึงถือว่าเป็นการป้องกันเอชไอวีขั้นพื้นฐานที่เข้าถึงได้ง่ายกว่าในอดีตอย่างมาก
ใครบ้างที่ควรตรวจเอชไอวี ?
- ผู้ที่มีเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้สวมถุงยางอนามัย
- ผู้ที่ถุงยางอนามัยฉีกขาดขณะมีเพศสัมพันธ์
- ผู้ที่ใช้เข็มฉีดยาร่วมกับผู้อื่น
- ผู้ที่มีเพศสัมพันธ์โดยขาดสติ
- ผู้ที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศ
- ผู้ที่มีพฤติกรรมเปลี่ยนคู่นอนบ่อย

การตรวจเอชไอวีมีกี่วิธี ?
การตรวจเอชไอวี จากแอนติเจนของเชื้อไวรัสเอชไอวี (HIV p24 antigen testing)
ผู้ที่ติดเชื้อเอชไอวีในร่างกายในระยะเวลาประมาณ 2 สัปดาห์ ร่างกายจะยังไม่สร้างแอนติบอดีต่อเชื้อไวรัส ทำให้การตรวจเอชไอวี จึงจะต้องอาศัยการตรวจหาโปรตีนของเชื้อแทน โดยมีชื่อว่า p24 ทั้งนี้วิธียังใช้กับผู้ที่แพทย์พิจารณาแล้วว่ามีระดับแอนติบอดีต่ำและไม่สามารถวัดค่าได้ร่วมด้วย
การตรวจเอชไอวี จากแอนติบอดีจำเพาะต่อเชื้อไวรัสเอชไอวี (Anti-HIV testing)
ผู้ที่ติดเชื้อเอชไอวีในร่างกายในระยะเวลาประมาณ 3-4 สัปดาห์ ร่างกายจะสร้างแอนติบอดีจำเพาะต่อเชื้อไวรัสเอชไอวีขึ้นมา ทำให้การตรวจเอชไอวี วิธีนี้สามารถยืนยันได้ชัดเจนและได้รับความนิยมนำมาใช้ในการตรวจคัดกรองทั่วโลก
การตรวจเอชไอวี จาก HIV p24 antigen และ Anti-HIV
การตรวจเอชไอวี วิธีนี้จะใช้น้ำยาตรวจที่สามารถตรวจหาทั้งแอนติเจนของเชื้อและแอนติบอดีจำเพาะในคราวเดียวกัน ซึ่งมีชื่อเรียกว่าน้ำยาตรวจ Fourth Generation โดยสามารถตรวจพบเชื้อได้หลังจากที่ผู้ติดเชื้อเอชไอวีในร่างกายประมาณ 2 สัปดาห์
การตรวจเอชไอวี จากสารพันธุกรรมของเชื้อไวรัสเอชไอวี (Nucleic acid test)
การตรวจเอชไอวี ด้วยวิธีนี้มีชื่อย่อว่า NAT ซึ่งสามารถทราบผลได้เร็วกว่าวิธีการอื่น ๆ โดยตรวจพบเชื้อได้ในผู้ที่ติดเชื้อเอชไอวีมาแล้วประมาณ 7 วันเท่านั้น อย่างไรก็ตามยังไม่ได้รับความนิยมให้นำมาใช้ในสถายพยาบาล
การตรวจเอชไอวี มีขั้นตอนอย่างไร ?
พิจารณาความเสี่ยงต่อการติดเชื้อเอชไอวี : ก่อนเข้าสู่ขั้นตอนการตรวจเอชไอวี ควรพิจารณาก่อนว่าตนมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อเอชไอวีหรือไม่ เพราะเมื่อมั่นใจว่าตนเองควรได้รับการตรวจ จะยิ่งช่วยป้องกันไม่ให้เกิดการลุกลามไปสู่ระยะรุนแรงได้อย่างทันท่วงที โดยหากแพทย์ประเมินแล้วว่ามีความเสี่ยง แพทย์จะพิจารณาวิธีการตรวจที่เหมาะสม เพื่อให้ทราบผลได้เร็วและมีประสิทธิภาพมากที่สุด
เลือกสถานพยาบาล หรือ ผู้ให้บริการตรวจเอชไอวี : ขั้นตอนเลือกสถานพยาบาลในการตรวจเอชไอวี เป็นเรื่องสำคัญต่อหลาย ๆ คน เนื่องจากแต่ละคนต้องการความเป็นส่วนตัวแตกต่างกันไป เช่น ต้องการตรวจเอชไอวี ในคลินิกที่ให้บริการเฉพาะทางเท่านั้น ด้วยเหตุผลในด้านความจำเป็นเรื่องเวลาที่จำกัด ระยะทางในการเดินทาง รวมไปถึงต้องการปรึกษาแพทย์อย่างเป็นส่วนตัว หากใครที่ไม่ติดปัญหาเรื่องความเป็นส่วนตัวหรือความลับเกี่ยวกับข้อมูล การเลือกเข้ารับการตรวจเอชไอวี ในสถานพยาบาลย่อมทำได้เช่นกัน โดยที่แพทย์จะได้ซักถามประวัติความเสี่ยง และประเมินวิธีการตรวจเอชไอวี ที่เหมาะสมให้ได้ประสิทธิภาพมากที่สุด
ให้ข้อมูลกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญอย่างตรงไปตรงมา : ก่อนทำการตรวจเอชไอวี แพทย์จะซักประวัติความเสี่ยงโดยละเอียด เพื่อช่วยให้สามารถประเมินระยะเวลาในการติดเชื้อเอชไอวีได้ใกล้เคียงมากที่สุด ดังนั้นคุณควรให้ข้อมูลอย่างตรงไปตรงมาและเป็นความจริง
เตรียมตัวเข้ารับการตรวจเอชไอวี : ก่อนตรวจเอชไอวี แพทย์จะให้คุณลงนามยินยอมรับการตรวจโดยสมัครใจ โดยคุณไม่จำเป็นจะต้องเตรียมตัวหรือร่างกายให้พร้อม ด้วยการงดน้ำ งดอาหาร หรือหลีกเลี่ยงการออกกำลังกายเหมือนกับการตรวจโรคอื่น ๆ แต่อย่างใด เพียงแค่ใจพร้อม ก็สามารถตรวจด้วยการเจาะเลือดได้โดยใช้เวลาเพียงไม่กี่นาทีเท่านั้น
ปรึกษาแพทย์เพื่อความเข้าใจที่ถูกต้อง : ก่อนและหลังการตรวจเอชไอวี แพทย์จะเปิดโอกาสให้คุณได้สอบถาม ปรึกษา และข้อคำแนะนำ ในข้อสงสัยต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ดังนั้นทางที่ดีคือการตั้งสติและสอบถามให้คลายข้อสงสัยทั้งหมด ให้เข้าใจไปในทิศทางที่ถูกต้องมากที่สุด
การป้องกันและการรับมือต่อผลการตรวจเอชไอวี : เมื่อได้ผลลัพธ์การตรวจเอชไอวี เป็นที่เรียบร้อยแล้ว หากผลคือไม่ติดเชื้อเอชไอวี คุณไม่ควรละเลยการป้องกันและหลีกเลี่ยงความเสี่ยงต่อการติดเชื้อที่อาจเกิดขึ้นได้ ในทางกลับกันหากผลการตรวจเอชไอวี คือคุณติดเชื้อเอชไอวี สิ่งแรกที่ควรทำคือการตั้งสติ จากนั้นวางแผนในการเข้ารับการรักษาโดยเร็วที่สุด พร้อมกันนั้นควรแนะนำให้คู่นอนของคุณเข้ารับการตรวจร่วมด้วย เพื่อเพิ่มความมั่นใจและสามารถรับมือได้ทันท่วงที

แนวทางการรักษาเอชไอวี
ในปัจจุบันทางการแพทย์ ยังคงมีแนวทางการรักษาเพียง เพื่อยับยั้งการแบ่งตัวของเชื้อเอชไอวี เท่านั้น เป็นการรักษาด้วยการใช้ยาต้านเชื้อไวรัส โดยได้รับการยอมรับจากทั่วโลกแล้วว่าเป็นการรักษาที่ให้ผลลัพธ์ที่ดีต่อผู้ติดเชื้อมากที่สุด ซึ่งแพทย์จะเลือกใช้ยาต้านเอชไอวีอย่างน้อย 3 ชนิดร่วมกัน เรียกง่าย ๆ คือเป็นสูตรยาที่ผ่านการวิจัยมาเรียบร้อยแล้วว่าได้ประสิทธิภาพ ทั้งนี้ผู้ติดเชื้อเอชไอวี ที่เข้ารับการรักษาจะต้องปฏิบัติตามที่แพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด พร้อมทั้งรับประทานยาอย่างต่อเนื่อง เพื่อลดโอกาสที่เชื้อไวรัสจะแบ่งตัวเพิ่มจำนวนมากขึ้นในร่างกาย
อ่านบทความที่น่าสนใจ
การตรวจเอชไอวี ยิ่งทราบผลเร็วเท่าไหร่ ก็ยิ่งเข้าสู่กระบวนการรักษาที่เร็ว ช่วยให้คุณรับมือกับผลที่ตามมาได้เร็วและมีประสิทธิภาพมากกว่า พูดง่าย ๆ คือ รู้เร็ว รักษาเร็ว ก็สามารถใช้ชีวิตร่วมกับเอชไอวีได้อย่างปกติ