ซิฟิลิส | รู้เร็ว ตรวจพบเร็ว รักษาได้

“ซิฟิลิส (Syphilis)” เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ชนิดหนึ่ง เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย เทรโพนีมา พัลลิดัม (Treponema pallidum) ระยะฟักตัวประมาณ 2 – 4 สัปดาห์จนถึง 3 เดือน ชอบบริเวณที่มีความชื้น ถือเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์จากการสัมผัสเชื้อโดยตรง เช่น การมีเพศสัมพันธ์ การสัมผัสสารคัดหลั่งของผู้ป่วย และติดต่อจากแม่สู่ลูกในครรภ์ได้ ส่วนมากพบได้บ่อยในวัยเจริญพันธุ์

ซิฟิลิส ติดต่อกันได้อย่างไร ?

ซิฟิลิส ติดต่อด้วยการสัมผัสกับสารคัดหลั่งต่าง ๆ เช่น การจูบ มีเพศสัมพันธ์แบบไม่ใส่ถุงยางอนามัย และรวมถึงการทำออรัลเซ็กซ์ ก็จะทำให้ติดเชื้อได้ แต่หากตรวจพบเชื้อตั้งแต่เนิ่น ๆ สามารถรักษาให้หายขาดได้ หากปล่อยไว้ไม่รักษาจนถึงอาการระยะสุดท้าย เชื้อจะลุกลามไปยังระบบหัวใจและหลอดเลือดหากไม่ได้รับการดูแลอย่างเหมาะสม อาจอันตรายถึงชีวิตได้

อาการของซิฟิลิส

ซิฟิลิส แบ่งออกเป็น 4 ระยะ ดังนี้

ซิฟิลิส ระยะที่ 1  

เกิดตุ่มเล็กขนาด 2 – 4 มิลลิเมตร บริเวณอวัยวะเพศ  ริมฝีปาก ลิ้น  และหัวนม  โดยตุ่มขยายใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ จนแตก เป็นแผล  ไม่มีอาการเจ็บ หากปล่อยทิ้งไว้เชื้อจะเข้าสู่ต่อมน้ำเหลืองบริเวณขาหนีบ ระยะนี้เป็นระยะที่ยังไม่แสดงอาการเนื่องจากแผลและอาการต่อมน้ำเหลืองที่ขาหนีบโตจะค่อยๆ หายไป ผู้ป่วยจึงมักนิ่งนอนใจว่าไม่ได้เป็นอะไร

ซิฟิลิส ระยะที่ 2

หลังจากติดเชื้อระยะแรกประมาณ 2 – 3 สัปดาห์ เชื้อซิฟิลิสในต่อมน้ำเหลืองเริ่มเข้าไปสู่กระแสเลือด ส่งผลให้เกิดผื่นลักษณะเป็นตุ่มนูนขึ้นตามร่างกาย โดยเฉพาะบริเวณฝ่ามือและฝ่าเท้า ไม่มีอาการคัน  เรียกระยะนี้ว่า “ระยะออกดอก”   บางครั้งอาจพบเนื้อตายเน่า มีน้ำเหลืองไหล  ซึ่งมีเชื้อซิฟิลิสปน จึงเป็นระยะติดต่อโรคได้ง่าย แต่ในผู้ป่วยบางรายอาจไม่แสดงอาการใดๆ  มีเพียงไข้ เจ็บคอ หรือปวดเมื่อยตามข้อเท่านั้น ซึ่งเชื้อสามารถสงบอยู่ตามอวัยวะต่างๆ  นานหลายปี เพียงแต่ตรวจพบว่ามีผลบวกของเลือดสูงมาก

ซิฟิลิส ระยะที่ 3

เรียกว่าระยะแฝง เป็นช่วงที่ไม่มีอาการ ผู้หญิงที่ตั้งครรภ์และเป็นโรคในระยะนี้ เชื้อซิฟิลิสสามารถติดต่อไปยัง ทารกในครรภ์ได้

ซิฟิลิส ระยะที่ 4

หลังจากได้รับเชื้อในระยะเวลานาน 2 – 30 ปี หากไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้องเชื้อจะทำลายอวัยวะภายใน รวมถึงอาจส่งผลให้ ตาบอด หูหนวก ใบหน้าผิดรูป สมองเสื่อมหรือเสียสติ เป็นอัมพฤกษ์อัมพาต ถ้าเชื้อลามไปถึงหัวใจ จะทำให้หัวใจล้มเหลว และเสียชีวิต

การวินิจฉัยซิฟิลิส

การวินิจฉัยซิฟิลิส สามารถทำได้โดยการใช้วิธีเจาะเลือดหาแอนติบอดี (Antibody) ที่ร่างกายสร้างขึ้นมา โดยแอนติบอดีต่อเชื้อซิฟิลิสนั้นจะคงอยู่ในร่างกายเป็นระยะเวลานานหลายปี ทำให้การตรวจด้วยวิธีนี้สามารถบ่งบอกถึงการติดเชื้อในอดีตได้ด้วย หากเกิดการติดเชื้อ ซิฟิลิสในระยะต้นและระยะที่สอง แพทย์อาจทำการเก็บตัวอย่างเซลล์จากบริเวณบาดแผลหรือบริเวณผื่นเพื่อนำไปทำการตรวจหาเชื้อแบคทีเรีย แต่ถ้าหากมีการติดเชื้อโรคซิฟิลิสในระยะที่สามและเกิดอาการแทรกซ้อนทางระบบประสาท แพทย์อาจมีความจำเป็นที่จะต้องเจาะน้ำไขสันหลัง (Lumbar Puncture) เพื่อนำไปตรวจหาความผิดปกติต่อไป

หากพบว่าผู้ป่วยเกิดการติดเชื้อในระยะเวลาไม่ถึง 1 ปี สามารถรักษาให้หายขาดได้ โดยที่ไม่เกิดผลแทรกซ้อนในระยะยาว โดยวิธีรักษาทำได้โดยการ ใช้ยาเพนิซิลลิน (Penicillin) เป็นยาปฏิชีวนะชนิดหนึ่ง สามารถรักษาและหยุดการลุกลามของโรคได้

เมื่อไหร่ที่ควรพบแพทย์

หากได้รับเชื้อซิฟิลิส อาจจะไม่มีอาการที่แสดงให้เห็นในทันที แต่หากผ่านไปสัก 3 สัปดาห์หรือมากกว่านั้นแล้วสังเกตเห็นผื่นที่ฝ่ามือ ฝ่าเท้า ศีรษะ มีผมร่วง หรือก่อนหน้านี้มีเพศสัมพันธ์แบบไม่ป้องกัน ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจเชื้อ ยิ่งรักษาได้เร็วเท่าไหร่ก็จะสามารถหายได้เร็วเท่านั้น

การป้องกันซิฟิลิส

  • สวมถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์
  • มีคู่นอนเพียงคนเดียว ไม่ควรเปลี่ยนคู่นอนบ่อย
  • หลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์กับผู้ป่วยหรือผู้ที่มีอาการคล้ายโรคซิฟิลิส
  • ตรวจคัดกรองหา โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เป็นประจำ อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง

การรักษาซิฟิลิส

ซิฟิลิส (Syphilis) สามารถรักษาให้หายขาดได้ ถ้าได้รับการดูแลรักษาอย่างถูกต้องตั้งแต่เนิ่น ๆ ยิ่งตรวจพบได้เร็ว ผลการรักษายิ่งมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งแพทย์จะทำการรักษา ด้วยยาปฏิชีวนะ กลุ่มเพนิซิลลิน โดยผู้ป่วยต้องไปฉีดยาตามนัดทุกครั้ง การขาดยาจะเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ไม่สามารถรักษาโรคจนหายขาด โดยสามารถเข้ารับการรักษาได้ที่ โรงพยาบาล หรือ คลินิกเฉพาะทาง ใกล้บ้านคุณ

ซิฟิลิส อาจจะดูรุนแรง แต่ก็สามารถรักษาให้หายได้ หากตรวจพบเชื้อตั้งแต่เนิ่น ๆ

ขอบคุณข้อมูล : samitivejhospitals

อ่านบทความอื่นๆ เพิ่มเติม

Similar Posts